กรณีเรือ วิลเลียม บราวน์ กับ ปรัชญาของ โทมัส ฮอบส์ ประเด็นทางจริยศาสตร์สุดคลาสสิค ที่นักศึกษาปรัชญาจำเป็นต้องรู้
จากที่เราได้ศึกษาแนวคิดของ โทมัส ฮอบส์ ไปแล้ว ซึ่งแนวคิดที่มีความสำคัญก็คือแนวคิด เรื่องของ สภาวะธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่ง โทมัส ฮอบส์ มีความเชื่อว่า มนุษย์ถ้าอยู่ท่ามกลางสภาวะที่เป็นธรรมชาติแล้ว ก็จะเป็นสภาวะแห่งสงคราม (มีความเห็นแก่ตัว) ต่างคนต่างที่ต้องการที่จะเอาตัวรอด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีสัญญาประชาคม และต้องมีองค์อธิปัตย์ ซึ่งเป็นเหมือนผู้นำในการที่จะใช้กฎหมาย แล้วก็บริหารจัดการควบคุมให้สังคม อยู่ร่วมกันได้

แต่มีกรณีตัวอย่าง กรณีหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ ค.ศ 1841 เรือสัญชาติอเมริกันชื่อ วิลเลิยม บราวน์ (William Brown) แล่นจากเมือง ลิเวอร์พูล เพื่อที่จะไป ฟิลาเดเฟีย ที่อเมริกา หลังจากออกเดินทางได้ 37 วัน ปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์เรืออัปปาง ชนกับภูเขาน้ำแข็งขึ้น ผู้โดยสาร 32 คน พร้อมด้วยลูกเรือ อีก 9 คน ก็พากันหนีตายลงไปในเรือชูชีพ ซึ่งก็มีขนาดเล็กและก็มีรอยรั่ว คนส่วนใหญ่ในเรือชูชีพนั้นรอดชีวิตมาได้ เพราะมีเรืออื่นมาพบ
แต่เหตุการณ์ยังไม่จบเพียงแค่นั้น เพราะผู้รอดชีวิตนั้นมีจำนวนน้อยกว่าในตอนที่แรกที่เริ่มขึ้นเรือ มันเกิดอะไรขึ้น จึงมีการไต่สวนคดีเกี่ยวกับจำนวนคนที่หายไปค่ะ และในที่สุดความจริงก็ได้ถูกเปิดเผยออกมาว่า ในระหว่างที่ทุกคนอยู่บนเรือชูชีพอยู่นั้น มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น
โฮมส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกเรือที่ขึ้นให้การต่อศาลในฐานะจำเลย ได้ออกมาสารภาพว่า ในระหว่างที่ลูกเรือและผู้โดยสารอยู่บนเรือชูชีพนั้น เรือชูชีพค่อยๆ รั่ว มากขึ้นเรื่อยๆ และก็ค่อยๆ ใกล้ที่จะจมลง ดังนั้น ลูกเรือจึงตัดสินใจคุยกันว่าจะทำอย่างไรดีที่จะรักษาชีวิตส่วนใหญ่ของคนในเรือไว้ และก็มีมติสรุปว่า จะต้องลดจำนวนคนที่อยู่ในเรือชูชีพลง โดยการจับคนบนเรือบางส่วนโยนลงน้ำไป
ที่นี้ปัญหาก็คือว่า แล้วใครหล่ะที่จะยอมเสียสละชีวิตตัวเอง เพื่อที่จะลงจากเรือ และก็แน่นอนว่าเขาก็ต้องจมลงสู่มหาสมุทร ในที่สุดลูกเรือตัดสินใจ จับผู้โดยสารเรือซึ่งเป็นผู้ชายโยนลงมหาสมุทรทีละคนๆ แม้ว่าแต่ละคนจะวิงวอนร้องขอชีวิต แต่ก็ไม่สำเร็จ ลูกเรือตัดสินใจจับผู้โดยสารที่เป็นผู้ชายโยนลงทะเลกว่า 10 คน เพื่อให้เรือชูชีพยังคงลอยอยู่ได้ จนในที่สุดก็มีเรือใหญ่มาพบ และเรื่องนี้มันก็ได้ถูกเปิดเผยออกมา
ศาลได้ไต่สวนโดยถาม ต่อไปว่าเหตุใด โฮมส์และลูกเรือจึงทำแบบนั้น แทนที่จะเสียสละชีวิตตัวเอง ถ้าจะต้องการรักษาหน้าที่เอาไว้ คือให้เรือลอยอยู่ต่อไปได้ แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่า โฮมส์ก็ได้ตอบคำถามนี้โดยการอ้างอิงถึง แนวคิดทางปรัชญา ของนักปรัชญาชาวอังกฤษชื่อดังคนหนึ่ง นั้นก็คือ โธมัส ฮอบส์
โดยโฮมส์ อ้างว่า ในสภาวะที่พวกเขาอยู่กลางมหาสมุทรนั้น ไม่มีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของรัฐใด ที่จะมาช่วยเหลือพวกเขาได้ มันก็เปรียบเหมือนกับพวกเขาอยู่ในสภาวะธรรมชาติ ซึ่งปราศจากกฎเกณฑ์ใดๆ ดังนั้น ทางรอดเดียวของเขา ก็คือจำเป็นที่จะต้องทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอด เขาจึงต้องใช้วิธีนี้ เพราะสภาวะธรรมชาติของมนุษย์ ก็คือ สภาวะของสงคราม (ความเห็นแก่ตัว) อยู่แล้ว
ดังนั้น รัฐก็ไม่ควรที่จะต้องเอาผิดพวกเขา เพราะเนื่องจากในเวลาที่พวกเขาลำบากรัฐก็ไม่สามารถใช้สัญญาประชาคมใดๆ ในการช่วยเหลือพวกเขาได้เช่นเดียวกัน ในที่สุดแล้วคดีความนี้ แม้จำเลยจะมีความมั่นใจในแนวคิดทางปรัชญา ที่ตนเองยกขึ้นมาอ้างก็ตาม แต่สุดท้ายการอ้างเหตุผลตรงนี้ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากศาล และเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป แอดมินขอปล่อยให้เรื่องนี้เป็นปริศนาเพื่อให้เพื่อนๆ ได้ลองไปค้นคว้าดู ว่าคดีความนี้จะจบอย่างไรค่ะ ?
แต่สิ่งนี้ก็แสดงให้เห็นถึงกรณีหนึ่งว่า แนวคิดทางปรัชญาก็มีอิทธิพลต่อการนำมาตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิตเลยทีเดียว แล้วถ้าเพื่อนๆ เป็นผู้พิพากษา เพื่อนๆ จะเห็นด้วยกับคำให้การของโฮมส์หรือเปล่าค่ะ?
อ่านจบแล้วเพื่อนๆ ร่วมกันแสดงความคิดเห็นกันได้นะคะ
…….
เล่าเรื่องโดย อ.สรณีย์ สายศร (อ. แนน)
เรียบเรียงโดย แอดมิน ลูน่า
ที่มา หนังสือ จริยศาสตร์ตะวันตก ค้านท์ มิลล์ ฮอปส์ รอลส์ซาร์ทร์ ของ เนื่องน้อย บุณยเนตร สำนักพิมพ์จุฬาฯ
ข้อมูลเพิ่มเติม https://en.wikipedia.org/wiki/William_Brown_%28ship%29
================